คำศัพท์สำคัญของการตรวจสอบงานเชื่อมโดยไม่ทำลาย

คำศัพท์สำคัญของการตรวจสอบงานเชื่อมโดยไม่ทำลาย



คำศัพท์สำคัญของการตรวจสอบงานเชื่อมโดยไม่ทำลาย
#NDT #nondestructivetesting

1. Imperfection = ความไม่สมบูรณ์
เป็นความผิดปกติใดๆ ที่เปลี่ยนไปจากสภาวะ หรือเงื่อนไขเดิมของวัสดุหรือชิ้นงาน ในลักษณะเชิงปริมาณนั่นเอง

2. Discontinuity = ความไม่ต่อเนื่อง
เป็นการขาดความต่อเนื่องและ/หรือการยึดเกาะติดกัน ซึ่งเป็นความผิดปกติใดๆ ที่เกิดขึ้นในโครงสร้าง และรูปร่างทางกายภาพของวัสดุและ/หรือส่วนประกอบต่างๆ โดยความต่อเนื่องจะแบ่งเป็น 3 ชนิด ดังต่อไปนี้

2.1 Inherent/Primary discontinuities

ความไม่ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มแรกหรือตั้งแต่ดั้งเดิม ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการหลอมละลาย และการแข็งตัวของโลหะในกระบวนการผลิต Ingot และจากกระบวนการผลิตวัสดุรูปพรรณ (Wrought matrtial) เป็นต้น

2.2 Processing discontinuities

ความไม่ต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต อาทิเช่น กระบวนการผลิตต่างๆ หรือกระบวนการขั้นสุดท้ายก่อนการใช้งาน ได้แก่ กระบวนการหล่อ, กระบวนการเชื่อม, กระบวนการตีขึ้นรูป, กระบวนการทางความร้อน เป็นต้น

2.3 Service discontinuities
ความไม่ต่อเนื่องทีเกิดขึ้นหลังกระบวนการผลิตในขณะใช้งานภายใต้สภาวะแวดล้อม เช่น การเสียหายจากการรับภาระโหลดซ้ำกลับไปกลับมาจากความล้าตัว หรือการเสียดสี เป็นต้น

3. Flaw = ตำหนิ
ความไม่สมบูรณ์หรือความไม่ต่อเนื่อง ที่เกิดขึ้นจากการจงใจ หรือไม่จงใจให้เกิด ซึ่งถูกตรวจพบได้ ด้วยการตรวจสอบโดยไม่ทำลาย ตำหนิไม่จำเป็นต้องยอมรับ

4. Indication = สิ่งบ่งชี้
สิ่งที่ปรากฏหรือสิ่งบ่งชี้ ทีเกิดขึ้นจากการตรวจสอบโดยไม่ทำลายวิธีการต่างๆ สามารถจัดแบ่งเป็น 3 ประเภทได้ ดังต่อไปนี้

4.1 False Indication
เป็นสิ่งบ่งชี้จากการตรวจสอบโดยไม่ทำลายแต่ละวิธีการ ที่ไม่มีความสัมพันธ์ต่อการตรวจสอบ มีสาเหตุมาจากการใช้เทคนิค และกระบวนการตรวจสอบที่ไม่เหมาะสม ผู้ตรวจสอบต้องไม่ให้ความสำคัญในการประเมินผล

4.2 Non – relevant Indication
เป็นสิ่งบ่งชี้จากการตรวจสอบโดยไม่ทำลายแต่ละวิธีการ เกิดขึ้นจากการออกแบบ ลักษณะรูปร่างต่างๆ หรือสมบัติของวัสดุ ที่ทำให้เกิดการรั่วของสนามแม่เหล็ก ทำให้เกิดการรวมตัวเป็นกระจุกของผงแม่เหล็ก โดยผู้ตรวจสอบต้องไม่ให้ความสำคัญในการประเมินผล

4.3 Relevant Indication
เป็นสิ่งบ่งชี้จากการตรวจสอบโดยไม่ทำลายแต่ละวิธีการ ที่เกิดขึ้นจากตำหนิ หรือความไม่ต่อเนื่องของวัสดุหรือส่วนของผลิตภัณฑ์ ผู้ตรวจสอบต้องให้ความสำคัญ และนำไปในการประเมินผลต่อไป

5. Interpretation = การแปลความหมาย
การตีความหรือการแปลความหมายของสิ่งบ่งชี้ที่ปรากฏ โดยการตัดสิน (Discussion) ว่าเป็น Indication ใดใน 3 ประเภทดังที่กล่าวมาข้างต้น

6. Indication Characterization = คุณลักษณะของสิ่งบ่งชี้
เป็นการแสดงลักษณะของตำหนิ ในเชิงปริมาณด้านขนาด รูปร่าง การวางตัว ตำแหน่ง การกระจาย หรือคุณสมบัติอื่น โดยจะขึ้นอยู่กับวิธีการตรวจสอบโดยไม่ทำลายที่ใช้

7. Evaluation = การประเมินผล
การประเมินผลของ Relevant indication จะทำการทบทวนและการประเมินผล โดยพิจารณาตามเกณฑ์การยอมรับ (Acceptance criteria) ของมาตรฐานผลิตภัณฑ์นั้นว่ายอมรับหรือไม่สามารถยอมรับได้ หรือคัดออก (Accept/Reject)

8. Defect = รอยบกพร่อง
ตำหนิที่มีหนึ่งหรือมากกว่า โดยพิจารณาทั้งชนิด ขนาด รูปร่าง ตำแหน่ง การวางตัว หรือคุณสมบัติที่ไม่ยอมรับตามเกณฑ์การยอมรับที่กำหนด (Specified acceptance criteria) โดยนิยามรอยบกพร่องไม่สามารถยอมรับได้ (Rejectable)


อ้างอิง : The Journal of Industrial Technology, Vol 2, Issue 1, February – July 2006
ติดต่อโทร. 02 - 455 - 2888
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์